วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วิกฤติการศึกษาไทย

มีครูหลายคนอาจยังไม่เชื่อว่าผลของการจัดการศึกษา(ฝีมือครู) ของโรงเรียนในประเทศไทย  มีผลทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง  จากการที่ทำให้ได้พลเมืองที่ไม่มีคุณภาพพอ ไม่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง  จึงทำให้สังคมวุ่นวาย  แตกแยกกัน  ค้าขายขาดทุน  ประเทศชาติขาดการพัฒนา ฯลฯ  ทั้งๆที่สังคมให้โอกาสกระทรวงศึกษาธิการ  โดยให้งบประมาณสูงมากกว่าทุกกระทรวงติดต่อมา 10 ปี และให้เงินเดือน รวมทั้งการเลื่อนขั้นตำแหน่งได้อย่างรวดเร็วกว่าข้าราชการทุกกระทรวง  แต่ผลการจัดการศึกษาล้มเหลวมาโดยตลอด   

เพียงแค่ผลการทดสอบระดับชาติ (O-net)  ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6  ขอยกตัวอย่างปีการศึกษา 2549  ซึ่งมีทั้งหมด  2,594 โรงเรียน  โรงเรียนที่มีผลการทดสอบเกินครึ่ง (250 คะแนน) มีจำนวน  21  โรงเรียน  คิดเป็นร้อยละ 0.8  มีผลการทดสอบเกิน 200  คะแนน  จำนวน  169  โรงเรียน   คิดเป็นร้อยละ 6.52

แต่ยิ่งทดสอบคะแนนก็ยิ่งถดถอยลงไปทุกปี    ผู้ใดสนใจต้องการรู้ผลการทดสอบแห่งชาติในแต่ละปี   เข้าไปดูได้ที่เว็บไซด์ของ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ)(องค์การมหาชน)

และแม้จะมีการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาทุกสังกัด   โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544  จนถึงปัจจุบัน หมดเงินภาษีอากรประชาชนไปหลายพันล้าน  จำนวนโรงเรียนที่ได้รับการรับรอง จาก สมศ.มีมากขึ้นทุกวัน    แต่ก็ไม่เห็นว่าผลของการศึกษาจะมีประสิทธิภาพขึ้นตามไปด้วย 

แม้กระทั่งผลการแข่งขันในเวทีระดับต่างๆ ผลปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับเกือบสุดท้ายทุกครั้งไป   ยิ่งถ้าต้องการทราบผลการประเมินหรือทดสอบความสามารถของคุณครูที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการทดสอบ  ก็ยิ่งเป็นที่น่าตกใจ  เพราะผลการทดสอบ พบว่า  ความรู้ความสามารถของครูประเทศไทยต่ำกว่าเกณฑ์ทุกวิชา   โดยเฉพาะผลการทดสอบวิชาภาษาอังกฤษ   คณิตศาสตร์   วิทยาศาสตร์ ฯลฯ

การศึกษาที่ล้มเหลว   จะเป็นความผิดของใคร ?  
ใคร?จะรับผิดชอบ
มีกรณีตัวอย่างหนึ่ง  ที่อาจทำให้ครูหลายท่านอาจเห็นภาวะวิกฤตการศึกษาคุณภาพการศึกษาไทยได้ชัดเจนมากขึ้น   “ .....เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์  2539 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 5  โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ได้กระโดดจากชั้น  5 อาคารหอพักชายเสียชีวิต   และได้เขียนจดหมายลาตายว่า “ผิดหวังที่ไม่สามารถทำคะแนนได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่โรงเรียนตั้งไว้”
(จากข่าวหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับวันที่ 9 กุมภาพันธ์  2539  หน้า  1)

ต่อมามารดาของนักเรียนที่เสียชีวิต   ได้เขียนจดหมายส่งถึงโรงเรียน    ผ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์  2539  หน้า  12   มีใจความที่สะท้อนการจัดการศึกษาของโรงเรียนทั้งประเทศอย่างน่าสะเทือนใจ  ว่า 
                    “.....เมล็ดพันธ์เมล็ดหนึ่งที่รับคัดเลือกเข้าแข่งขันเข้ามาอยู่ในโรงเพาะชำของพวกคุณ  จนแข่งขันได้เข้ามาอยู่ในจำนวน  100  กว่าเมล็ดพันธุ์  ก็ยังต้องมารอให้คุณจับสลาก   เพราะแปลงปลูกเมล็ดพันธุ์ของพวกคุณมีที่เพาะไม่พอ  จนเขาเป็นเมล็ดสุดท้าย  เมล็ดที่ 80  ที่คุณเลือกขึ้นมา  ฉันซึ่งเป็นแม่ของเขามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง  ที่เขาได้รับคัดเลือกเป็นเมล็ดพันธ์ที่คุณจะรับเพาะเลี้ยงให้เติบโต   เป็นกล้าไม้ที่แข็งแรงและสมบูรณ์  เขาเติบโตมาในเรือนเพาะชำนี้ได้  6  ปี   พวกคุณก็ขยับขยายเขามาลงแปลงใหม่  ทดลองให้ปุ๋ย  ให้อะไรที่พวกคุณคิดค้นขึ้นมา    เสร็จแล้วกล้าไม้ต้นนี้ไม่เป็นดั่งหวังไม่ผลิดอกออกผลเป็นผลไม้ทองคำดังใจของพวกคุณ   กล้าไม้ต้นนี้จะทำให้พวกคุณเสียชื่อ  และเป็นนักทดลองที่ไม่ประสบผลสำเร็จ   พวกคุณก็พยายามขุดมันทิ้ง   พยายามโค่นมัน   แต่ไม่ได้ดังใจ  เพราะกล้าต้นนี้เติบโตบนพื้นดินผืนนี้เป็นเวลา  10  กว่าปี  ไม่สามารถที่จะรับสภาพที่ถูกขุดอย่างทิ้งๆขว้างๆ  ออกไปจากพื้นที่ของพวกคุณได้    ชีวิตเขาทั้งชีวิตแทบจะอยู่กับพื้นที่ดินนี้มาตลอด  

                   เขารู้ว่าต้นแม่ ต้นพ่อที่ส่งเข้ามาจะเสียใจ   เขาจึงยอมรับที่จะถูกพวกคุณโค่นทิ้งไม่ได้   เขาจึงขอตายในพื้นที่ที่เพราะเลี้ยงเขาขึ้นมา   และก็คงจะสมใจพวกคุณที่เขาตายเสียได้ จะได่ไม่เกะกะพื้นที่ของพวกคุณ  คุณจะได้เลือกเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ดี  วิเศษเลิศเลอ   เพื่อที่จะเป็นต้นกล้าที่เพาะขึ้นมาแล้วทำชื่อเสียงให้กับพวกคุณได้สมหวัง   ลงท้ายพวกฉันขอแสดงความยินดีกับพวกคุณที่คุณทำให้เขาจัดการตัวเขาได้........”